คุณสมบัติที่ดีของการเป็นลูกน้องที่น่ารัก 10 ประการ (ตอนที่ 1)
โดย อ.สุภาพร จันทร์เพชร
ในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีหลักสูตรอบรมการบริหารลูกน้องอย่างไรให้สู่ความสำเร็จขององค์กรเพราะส่วนมากจะเน้นในเรื่องการพัฒนาผู้นำมากกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าในองค์กรมีลูกน้องค่อนข้างเยอะในแต่ละแผนกซึ่งจะทำให้องค์ต้องเสียเงินค่าอบรมเยอะ ทำให้องค์กรมุ่งไปที่การพัฒนาผู้นำมากกว่า อย่างไรก็ตามองค์กรสร้างลูกน้องที่น่ารักให้ดีได้ ดังคุณสมบัติที่ดีของการเป็นลูกน้องที่น่ารัก 10 ประการ มีรายละเอียดดังนี้
1.มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน
ก่อนอื่นเราต้องมาถามตัวเองก่อนว่าทุกวันนี้เราทำงานเพื่ออะไร เราทำงานเพื่อใคร และเป้าหมายการทำงานของเราคืออะไร หากทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็จะทำให้เราทำงานได้ดี ทำงานให้ถูกใจเจ้านายได้เช่นเดียวกัน ถ้าทุกคนในองค์กรทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน เดินไปในทิศทางเดียวกันก็จะทำให้องค์กรสำเร็จได้ง่าย และเร็วขึ้น
2. มีทักษะในการสื่อสาร
คุณควรมีการสื่อสารเยอะ ๆ กับหัวหน้างาน ไม่ต้องคิดเกรงใจหัวหน้างานว่างานเยอะเดี๋ยวหัวหน้าไม่มีเวลาคุยกับคุณก็เลยไม่ไปปรึกษา ไม่คุย รอก่อน และบอกตัวเองว่าค่อยคุยทีเดียว การทำงานที่จะสำเร็จนั้นควรมีการสื่อสารที่ดี มีคำถามหรือข้อสงสัยอะไรให้รีบปรึกษาหัวหน้างานทันทีเพราะคุณจะได้ทำงานชิ้นนั้นได้ดีและถูกใจเจ้านาย และเวลามีประชุมถ้าหัวหน้าถามว่าท่านใดมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม หากคุณมีไอเดียหรือข้อสงสัยที่ต้องการเสนอแนะความคิดเห็นนั้นก็ให้พูดออกมา เพราะถือว่าคุณได้แสดงความคิดเห็นไปแล้ว แต่หัวหน้างานจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นไม่จำเป็นว่าทุกคนในทีมหรือหัวหน้างานจะเห็นด้วยกับความคิดเห็นที่คุณได้เสนอไปแล้ว หากคุณไม่พูด ไม่สื่อสาร ไม่แสดงความคิดเห็นออกมา เวลาออกจากห้องประชุมไปคุณก็จะไปพูดว่าเรื่องนี้ ต้องทำแบบนี้ เรื่องโน้นควรเป็นแบบนี้ สิ่งนี้ไม่ควรทำอย่างยิ่งเพราะจะทำให้คุณทำงานไม่สำเร็จบรรลุเป้าหมายและไม่ถูกใจเจ้านายเป็นแน่ บางเวลาการทำงานอาจไม่ถูกใจแต่ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของบริษัทที่กำหนดไว้สิ่งนี้จะทำให้ทีมและองค์กรทำงานได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และถูกใจหัวหน้างานด้วยเงื่อนไขการตัดสินใจในการทำงานภายใต้กรอบและนโยบายของบริษัทที่กำหนด
3. ทำงานเกินหน้าที่
คนที่จะประสบผลสำเร็จในการทำงานจะต้องทำงานเกินหน้าที่ไม่หวังผลตอบแทนก่อนว่าทำแล้วจะได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทน หากคุณคิดเช่นนี้คุณจะไม่ได้พัฒนาตัวเองและไม่ประสบผลสำเร็จในการทำงานและไม่ได้ใจหัวหน้างานเช่นเดียวกัน คนไหนที่ทำงานเกินหน้าที่ ทำด้วยใจรัก ทำด้วยความต้องการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และบอกตัวเองเสมอว่ามันคือโอกาสที่จะแสดงฝีมือ ถ้าคนไหนมีความคิดเช่นนี้คือคนที่จะประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างแน่นอน ผลตอบแทนหรือรางวัลก็จะตามมาทีหลัง
4. มีทัศนคติที่ดี
คุณควรมีทัศนคติที่ดีต่อหัวหน้างาน ให้ความเคารพรักและศรัทธาในหัวหน้างาน ถ้าหากคุณยังคิดจะทำงานร่วมกับหัวหน้างานของคุณแล้วคุณต้องปรับตัวเองให้เข้ากับหัวหน้างานของคุณให้ได้ ไม่ใช่มีความคิดว่าเค้าเป็นหัวหน้างานของคุณเค้าต้องปรับตัวให้เค้ากับลูกน้องทุกคนก่อนสิ่งนี้คุณคิดผิด การเปลี่ยนคนอื่นยากกว่าการเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งบุคลิกลักษณะของหัวหน้างานนั้นมีอยู่ 4 แบบ คือ
1. หัวหน้างานที่ใจร้อน ปากร้าย วิธีแก้ไขคือ คุณก็ใช้วิธีรับฟัง นิ่ง ไม่พูด ปล่อยให้หัวหน้าพูดจนจบก่อนแล้วคุณค่อยอธิบาย อย่าเพิ่งพูดในขณะที่หัวหน้าคุณกำลังโกรธ หรือกำลังดุใครอยู่
2. หัวหน้างานที่พูดมาก พูดเยอะ คุยสนุก หัวหน้างานที่มีบุคลิกลักษะแบบนี้ ไม่ยากที่จะทำให้คุณเข้าไปปรึกษางานต่าง ๆ ได้ เพราะเค้าเป็นคนคุยสนุก แต่หากไม่พอใจใครอาจจะพูดมาก ขี้บ่น วิธีแก้ไขก็ใช้วิธีรับฟังและเงียบเหมือนกับวิธีที่ 1 ได้เช่นเดียวกัน
3. หัวหน้างานที่ทำอะไรก็ช้า มีกังวล คิดเยอะ วิธีแก้ไขคือ คุณจะต้องคอยติดตามงานหรือคอยสอบถามว่างานที่คนส่งไปนั้นต้องให้คุณแก้อะไรเพิ่มเติมไหม คุณจะได้รีบทำให้ทันตามเวลาที่กำหนดเป็นการกระตุ้นหัวหน้างานได้ดีเช่นเดียวกัน จะได้ไม่ต้องแก้ไขงานในวินาทีสุดท้าย
4. หัวหน้างานที่ละเอียดสุดขีด วิธีแก้ไขคือ คุณเองก็ต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบให้มากกว่าเดิม ควรตรวจงานก่อนส่งหัวหน้างานทุกครั้ง สิ่งนี้ก็จะทำให้คุณได้ใจหัวหน้าเช่นเดียวกัน
5. ส่งงานก่อนเวลา
คุณควรมีการสร้างบารมีกับหัวหน้างานเพราะการส่งงานก่อนเวลาที่กำหนดคุณจะได้ใจหัวหน้างาน เวลาทำผิดอะไรหัวหน้าก็รู้สึกเกรงใจไม่กล้าดุเพราะจะคิดถึงเวลาให้งานกับคุณทำแล้วคุณทำงานส่งก่อนเวลาเสมอ ซึ่งจะบ่งบอกว่าคุณมีความตั้งใจและใส่ใจในการทำงานชิ้นนั้น ๆ นั่นเอง หรือเราเรียกว่าคุณมีบารมีกับหัวหน้างานได้เช่นเดียวกัน
5 ข้อแรกผ่านไปแล้ว เดี๋ยวจะยาวไปค่อยไปต่อกันตอนที่ 2 นะคะ